ด้วงหนวดยาว
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ
Stem boring
grub
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dorysthenes
(Lophosternus)bugueti Guerin
วงศ์
Cerambycidae
อันดับ
Coleoptera
ความเสียหาย/ลักษณะการทำลาย
เป็นด้วงหนวดยาวที่ได้รับการรายงานครั้งแรกว่า
เข้าทำลายอ้อยในประเทศไทย ส่วนในประเทศอื่นรายงานว่า หนอนของด้วงหนวดยาวคือ Dorsythenes
hyfropicus Pasc. เป็นแมลงในดินที่เข้าทำลายอ้อยในไต้หวัน
โดยเจาะเข้าไปในส่วนของลำต้นอ้อยที่อยู่ใต้ดินและทำให้อ้อยที่ถูกเจ้าตาย
เป็นแมลงที่สำคัญชนิดหนึ่งของอ้อย
มักพบระบาดมากในดินร่วมปนทรายที่มี pH 6.9 ดินมีอินทรียวัตถุ
1.15-1.22 % แมลงชนิดนี้ทำความเสียหายให้แก่อ้อยได้มากกว่าแมลงนูนหลวง
เพราะมักแพร่กระจายไปทั่วไร่อ้อยที่ถูกทำลายในบริเวณกว้างขวาง
ผลจากการเข้าทำลายของหนอนชนิดนี้ทำให้ผลผลิตอ้อลผลูกลดลง 13-43% และน้ำตาลลดลง
11-46% ส่วนอ้อยตอ 1 จะสูญเสียผลผลิตประมาณ 54% และน้ำตาลลดลง 57%
แมลงชนิดนี้เริ่มเข้าทำลายอ้อยเมื่อปี 2514 แต่สร้างความเสียหายได้มากในปี
2519-2520 และเกิดการระบาดอีกครั้งในปี 2527-2530
หนอนเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่ระยะท่อนพันธุ์อ้อย
โดยเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ มีผลทำให้ท่อนพันธุ์อ้อยไม่งอก
หน่ออ้อยอายุ 1-3 เดือน
จะถูกกัดตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออกทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย
เมื่ออ้อยโตเป็นลำแล้วอาการเริ่มแรกพบว่า กาบใบและใบอ้อยแห้งมากกว่าปกติ
ตั้งแต่ใบล่างขึ้นไปจนแห้งตายไปทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย
ขณะที่หนอนยังเล็กจะกัดกินอยู่ตรงบริเวณเหง้าอ้อย
ซึ่งมีผลทำให้การส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง
เมื่อหนอนโตขึ้นขนาดยาวประมาณ 40 มิลลิเมตร
ก็จะเริ่มเจาะไชจากส่วนโคนลำต้นอ้อยขึ้นไปเพื่อกินเนื้ออ้อยจนบางครั้งทำให้ลำต้นอ้อยเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก
บางต้นหนอนเจาะสูงขึ้นไปจากส่วนโคนถึง 40 เซนติเมตร
จนทำให้ลำต้นอ้อยหักล้มและแห้งตาย
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
ไข่ ไข่เป็นรูปยาวรี สีน้ำตาลอ่อน ขนาดยาว 3.0-3.5
มิลลิเมตร กว้าง 0.8-1.0 มิลลิเมตร เปลือกไข่ค่อนข้างแข็ง
หนอน
ลำตัวสีขาวนวลตลอดทั้งตัว รูปร่างแบนทรงกระบอกและแบนเล็กน้อย
บริเวณอกกว้างกว่าส่วนท้องเล็กน้อย หัวกะโหลกมีสีน้ำตาลและมีขนาดเล็กกว่าลำตัวมาก
ปากขนาดเล็กแต่มีเขี้ยวแข็งแรง ขามีขนาดเล็กมาจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
เมื่อโตเต็มที่มีขนาดใหญ่มาก คือ ยาว 70-100 มิลลิเมตร กว้าง 20-30 มิลลิเมตร
หัวกะโหลกกว้าง 12 มิลลิเมตร
ดักแด้ มีหนวด ขา และปีกอยู่ด้านข้างลำตัว
เห็นชัดเจนยาวประมาณ 40-50 มิลลิเมตร กว้าง 24-26 มิลลิเมตร
ตัวแก่ สีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ 25-40 มิลลิเมตร กว้าง
10-15 มิลลิเมตร ตัวเมียตรงปลายปล้องสุดท้ายของส่วนท้องมีลักษณะมน
ส่วนตัวผู้ตรงปลายเว้าและมีขนที่หน้าอก
ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้ในดินภายหลังจากที่ฝนตก
2-4 วัน ในเวลากลางคืน ตั้งแต่เดือนมีนาคม– มิถุนายน และพบว่า ออกมากที่สุดในเดือนเมษายน
มีนิสัยว่องไวมากในเวลากลางคืน เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในบริเวณไร่อ้อย
ส่วนในเวลากลางวันมักหลบซ่อนอยู่นิ่ง ๆ ตามโคนต้นอ้อย
แม้ว่าตัวแก่จะมีปีกแข็งแรงแต่ไม่ชอบบิน
หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ในดินตรงบริเวณใกล้ ๆ โคนอ้อย
ตัวแม่ตัวหนึ่ง ๆ สามารถวางไข่ได้สูงถึง 41-441 ฟอง อายุตัวแก่ประมาณ 6-20
วันก็ตาย ระยะไข่ 11-27 วัน หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีลำตัวยาวประมาณ 4
มิลลิเมตร หัวกะโหลกกว้าง 0.7 มิลลิเมตร หนอนมีการลอกคราบ 7-8 ครั้ง มี 8-9 วัย
และมีอายุประมาณ 1-2 ปี
หนอนชนิดนี้มีนิสัยว่องไวและสามารถเคลื่อนย้ายไปในดินได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อหนอนโตเต็มที่ก็จะเข้าดักแด้ในดินตรงบริเวณโคนกออ้อยบึกจากสันร่องลงไป 10-60
เซนติเมตร ก่อนที่หนอนจะเข้าดักแด้
หนอนจะใช้ชานอ้อยที่กัดกินจากเนื้ออ้อยจนเป็นเศษอ้อยชิ้นเล็ก ๆ
มาทำเป็นรังห่อหุ้มตลอดลำตัว แล้วหนอนก็เข้าดักแด้อยู่ภายในรังนั้น ๆ
รังดักแด้เป็นรูปไข่ยาวขนาด 60-70 มิลลิเมตร กว้าง 40-50 มิลลิเมตร หนอนที่เข้าดักแด้ใหม่
ๆ สีขาวนวล แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง อายุดักแด้ประมาณ 7-18 วัน
ก็ออกเป็นตัวเต็มวัย ส่วนใหญ่พบหนอน 1-3 ตัวต่อกออ้อย
การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
พบมากในดินร่วนทรายที่จ.ชลบุรี
ระยอง และกาญจนบุรี ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็พบเข้าทำลายอ้อยและมันสำปะหลังมากที่ขอนแก่น
อุดรธานี และบุรีรัมย์ ภาคเหนือพบที่กำแพงเพชร
และในต่างประเทศพบที่ตอนเหนือของอินเดีย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และลาว
โดยพบว่าเข้าทำลายอ้อยได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต
พืชอาหาร
อ้อยและมันสำปะหลัง
การสุ่มตัวอย่างหลังจากตัดอ้อยเข้าโรงงาน
ควรสุ่มตัวอย่างโดยวิธีเส้นทะแยงมุม หรือ ซีเควนเชียล ถ้าอ้อยถูกทำลายมากกว่า
24%กอ หรือ 7.23%ลำ ควรไถทิ้งและปลูกใหม่ ถ้าไว้ตออาจไม่คุ้มค่า จะถูกกินหมด
และไม่ได้เก็บเกี่ยว
ศัตรูธรรมชาติ
เชื้อราเมตาไรเซียม
หรือเชื้อราเขียว จะเข้าทำลายหนอนของด้วงหนวดยาว โดยเป็นเชื้อราสีเขียวที่จะเข้าแมงลำตัวของหนอน
ทำให้หนอนแห้งตาย และแทงเป็นเส้นใยของเชื้อราเป็นสีเขียวออกมาด้านนอกตัวหนอน
คำแนะนำการป้องกันกำจัด
1.
ขณะที่ไถไร่
ควรเดินเก็บหนอนตามรอยไถ 1-2 ครั้ง ่อนปลูกอ้อย
ควรส่งเสริมให้มีการนำตัวหนอนไปประกอบอาการ
2.
ปลูกพืชหมุนเวียน
โดยปลูกมันสำปะหลังหรือสับปะรดแทน
แม้ว่าหนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายมันสำปะหลังโดยเจาะเข้าไปที่โคนต้นมันสำปะหลังให้เป็นโพรง
และหักล้มในที่สุด บางครั้งพบเจาะเข้าไปกินในหัวมัน แต่การเข้าทำลายมันสำปะหลังก็รุนแรงน้อยกว่าในอ้อยมาก
3.
ในแหล่งที่พบการระบาด
หลังวางท่อนพันธุ์ควรมีการฉีดพ่นด้วยสารแขวนลอยของเชื้อราเขียว จึงกลบ
จะสามารถป้องกันตัวหนอนได้ประมาณ 1 ปีในกรณีที่ไม่มีตัวหนอนเข้าทำลายอ้อย
แต่หากมีหนอนได้รับเชื้อราเข้าทำลาย
เชื้อราสามารถกระจายต่อไปได้เรื่อย ๆ จากตัวหนอนที่ตาย
4.
อาจใช้สารเคมีโรยในร่องอ้อย
endosuldan +
fenobucarb (Thiocorb 4.5% G) อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่
แล้วจึงกลบร่อง หรือ ฉuดพ่นด้วยสาร fipronil
(Asscend 5% SC) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ฉีดแล้วกลบดิน
5.
ในช่วงปลายมีนาคม-เมษายนของทุกปี
ด้วงหนวดยาวอ้อยเริ่มออกจากดักแด้มาเป็นตัวเต็มวัย ใช้วิธีกลคือ ขุดหลุมดักจับ
โดยตัวเมียหลังจากออกจากดักแด้จะปล่อยสารล่อทางเพศออกมา ตัวผู้ก็เดินตาม
เมื่อตกลงไปในหลุมก็จะไม่สามารถขึ้นมาได้ และควรรองก้นหลุมด้วยพลาสติก
เพื่อป้องกันการวางไข่ของด้วงหนวดยาวได้
เอกสารอ้างอิง
ณัฐกฤติ พิทักษ์. 2547.
แมลงศัตรูอ้อยและการป้องกันกำจัด. หน้า 57-117. ใน เฉลิมพล ไหลรุ่งเรือง อุดม เลียบวัน อรรถสิทธิ์ บุญธรรม ประพันธ์ ประเสริฐศักดิ์
วันทนีย์ อู่วานิชย์ ณัฐกฤติ พิทักษ์ วัลลิภา
สุชาโต สมศักดื์ ทองศรี และตุลย์ อินทรัมพรรย์. เอกสารวิชาการอ้อย. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กรุงเทพ ฯ.
147 หน้า.
จัดทำโดย
นางสาวชุติมณฑน์
ถนอมกลิ่น เลขที่ 23 ม.5/3